คำแนะนำการหางาน | 24 June 2023

โปรแกรมเมอร์ - อาชีพนี้ดีไหม? เรามีคำตอบให้คุณ

กระแสออนไลน์ทุกวันนี้ทำให้ งานโปรแกรมเมอร์ และงานสายไอทีอื่น ๆ เป็นสาขาที่ผู้ประกอบการเปิดรับสมัคร จำนวนมาก เพราะไม่ว่าบริษัทไหน ๆ ก็ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง บางบริษัทก็มีโปรแกรมเมอร์เป็นของตัวเองเพื่อให้การจัดการข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ง่าย และเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ผ่านสมาร์ทโฟน iPad หรือ Tablet เพราะเหตุนี้ ในสายไอทีประเภทงาน Programming / Software Development อาชีพโปรแกรมเมอร์จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุดสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทให้ทันต่อกระแสโลก

 

  • โปรแกรมเมอร์คือ?

  • โปรแกรมเมอร์ทำงานที่ไหน?

  • ทำงานกับใครบ้าง?

  • ทำงานหนักไหม?

  • ตัวอย่าง อาชีพสายโปรแกรมเมอร์

  • โปรแกรมเมอร์รายได้เท่าไหร่?

  • ทักษะที่โปรแกรมเมอร์ควรมี

 


 

คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ คือ ผู้ที่ทำหน้ารับรายละเอียดของความต้องการของผู้ใช้งานจากนักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) แล้วจัดทำแผนขั้นตอนการทำงาน (Flow Chart) ที่ละเอียดและถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการเขียนโปรแกรมสำหรับการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ ทำหน้าที่ร่วมกันกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และในบางบริษัทหน้าที่งานทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน ซึ่งพวกเขาสามารถทำงานในด้านการพัฒนาได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การออกแบบโปรแกรม การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่นับตั้งแต่การสร้างต้นแบบ แผนภูมิแสดงรายละเอียดการเขียนรหัสต่างๆ เขียนและปรับปรุงรหัส และการออกแบบแอพพลิเคชั่นหรือระบบติดต่อประสานงานอื่นๆ

 

โปรแกรมเมอร์ทำงานที่ไหน?

โดยปกติคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์มักจะทำงานประจำอยู่ใน office สำนักงาน หรือเป็นโปรแกรมเมอร์อิสระ ก็จะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ให้เขียนโปรแกรม และมีอินเตอร์เน็ตในการติดต่อประสานงานเท่านั้น 

 

โปรแกรมเมอร์ทำงานกับใคร?

  • โปรแกรมเมอร์ร่วมทีม ในการสร้างโปรแกรมแต่ละครั้งอาจมีขนาดงานที่ใหญ่เกินกว่าโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งจะแบกรับไว้ได้ ผู้ร่วมทีมจะช่วยประสานและแบ่งงานกันให้ภารกิจเสร็จลุล่วงได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา

  • Business Analyst ทำหน้าที่ประสานงานและรับโจทย์จากลูกค้าหรือผู้บริหารที่ต้องการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วนำมาถ่ายทอดส่งต่อให้ทีมโปรแกรมเมอร์ดำเนินการ

  • System Analyst ช่วยทำหน้าที่จัดสรรและกระจายงานต่างๆ ไปให้โปรแกรมเมอร์ในทีม สร้างสรรค์โปรแกรมตามความถนัดและตามโจทย์ที่ได้รับจาก Business Analyst โดย System Analyst ต้องมีความรู้และเข้าใจระบบการทำงานของโปรแกรมเมอร์ เพื่อจะสามารถบริหารงานได้อย่างราบรื่น

  • Graphic Designer งานโปรแกรมที่เราเห็นสวยงามได้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเขียน Code จากโปรแกรมเมอร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมองค์ประกอบจากเนื้อหาและงานภาพที่สวยงามจากการออกแบบของ Graphic Designer ด้วย

 


 

โปรแกรมเมอร์ทำงานหนักไหม?

งานเขียนโปรแกรมเป็นงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน วันหนึ่งประมาณ 6-7 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ต้องใช้ประสาทสัมผัสของสายตาและมือ บางครั้งอาจมีปัญหากับสายตาได้ เนื่องจากอยู่กับจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

 

ตัวอย่าง อาชีพสายโปรแกรมเมอร์

  • Programmer– Senior

  • Programmer 

  • Application Developer

  • ios Developer

  • Android Developer

  • Java Developer เน้นภาษาจาวา

  • Front-end Developer

  • Test Engineer

  • E-Commerce Developer

  • VB Developer

  • PHP Programmer เน้นภาษาพีเฮสพี

  • Software Tester

  • Software Engineer

  • Project Manager

 

โปรแกรมเมอร์ รายได้เท่าไหร่?

ความก้าวหน้าทางอาชีพ ของนักคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้และประสบการณ์ สามารถพัฒนาต่อไปเป็นนักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ได้ และถ้าบางคนมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และขึ้นตำแหน่งผู้บริหารได้

  • Programmer รายได้ประมาณ 25,000 – 50,000 บาท

  • Senior Programmer รายได้ประมาณ 40,000 – 100,000 บาท

  • Development Manager / Project Manager รายได้ประมาณ 50,000 – 90,000 บาท

  • CTO (Chief Technology Officer) รายได้ประมาณ 100,000 – 300,000 บาท



 

ทักษะของโปรแกรมเมอร์

โปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพที่มีความต้องการมากขึ้นเนื่องจากความต้องการขยายตลาดของวงการ IT และผลตอบแทนที่สูงขึ้น สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถมาก ดังนั้นโปรแกรมเมอร์จึงควรที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงใช้ในงานและพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

 

Hard Skills ของ Programmer

  • API (Application Programming Interface) : คือตัวกลางการรับส่งข้อมูลระหว่าง Frontend และ Backend เช่นการเรียกรับส่งข้อมูลระหว่าง website หรือ application กับ server โดยรูปแบบ API ที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ RESTFul API และ GraphQL เป็นต้น

  • Clean code : แนวคิดการเขียนโค้ดที่นอกจากจะต้องสามารถทำงานได้ตามที่คาดหวังแล้ว โค้ดที่เขียนจะต้องเขียนออกมาเป็นรูปแบบโครงสร้างไม่ซ้ำซ้อน ผู้อื่นสามารถอ่านโค้ดที่เราเขียนได้เข้าใจง่าย สามารถทำการทดสอบ, แก้ไข หรือพัฒนาต่อยอดได้ง่าย

  • Automate Testing : การทดสอบในรูปแบบอัตโนมัติโดยการเขียนโค้ดที่มีหน้าที่ในการทำ Testing โค้ดชุดหลักที่ต้องการทดสอบผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามจุดประสงค์หรือไม่ การเขียนโค้ดสำหรับทำ Automate Testing จะช่วยให้ประหยัดเวลาและมีประสิทธิภาพมากกว่า Manual Testing โดยเฉพาะระบบขนาดใหญ่ที่มีฟังก์ชันจำนวนมาก ตัวอย่างรูปแบบการทำ Automate Testing ได้แก่ Unit test, Integration test และ End to end test เป็นต้น

  • Version control : อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยคุณพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น เครื่องมือที่จะช่วยบริหารจัดการกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ของทีมที่ทำงานร่วมกันหลาย ๆ คน โดยเครื่องมือ Version control ที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ Git และ GitHub

  • Code reviews : เมื่อมีการเขียนโค้ด หรือ แก้ไข เพื่อที่จะใช้ในระบบ ก่อนที่จะมีการอัปโหลดโปรเจคจะต้องให้โปรแกรมเมอร์ในทีมที่ไม่ใช่ผู้ที่เขียนโค้ดนั้น ๆ ได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของโค้ดชุดนั้นก่อนที่จะนำขึ้นระบบ เพื่อตรวจสอบมาตราฐานและลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับระบบได้ การทำ Code review นั้นเป็นส่วนรับผิดชอบร่วมกันของทีมที่จะต้องช่วยกัน Discussion ตรวจสอบโค้ดของกันและกัน เนื่องจากบางครั้งแต่ละคนสามารถมองเห็นจุดผิดพลาดของโค้ดที่ผู้อื่นอาจจะมองข้ามได้

  • Software delivery : การทำ Software delivery หรือ การ Deploy โค้ดขึ้นระบบ ในปัจจุบันในองค์กรที่มีระบบขนาดใหญ่นิยมทำแบบ Automate Deploy โดยมีกระบวนการที่นิยมทำในองค์กรคือ CI/CD กระบวนการ CI/CD จะช่วยให้โปรแกรมเมอร์สามารถลดระยะเวลาการ Deploy ให้รวดเร็วขึ้นมีความถูกต้องมากขึ้นเมื่อทำการรวมโค้ดที่เขียนเข้ากับโค้ดหลัก

 


 

Soft skills ของ Programmer

  • Business mindset : สำหรับโปรแกรมเมอร์สามารถปรับมุมมองโดยให้มองทักษะของตัวเองเป็นเสมือน ธุรกิจ หรือ การบริการรูปแบบหนึ่งที่องค์กรซื้อต่อจากคุณ ทำให้ต้องมีการพัฒนาการบริการหรือทักษะให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เหมือนธุรกิจที่จะต้องปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอเช่นกัน

  • Product mindset : ในการทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์นอกจากจะต้องคำนึงถึง Technical ต่าง ๆ ในการพัฒนาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันคือการคำนึงถึงตัว Product ที่ต้องการพัฒนาออกมาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานหรือลูกค้าด้วย

  • People skill : อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณจะประสบความสำเร็จได้ คือการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน เห็นถึงความสำคัญของผู้ร่วมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า รวมไปถึงน้องภายในทีม ให้การทำงานราบรื่นและมีการส่งเสริมศักยภาพการทำงานในทีมกันและกัน สร้างผลงานได้ดีขึ้น

  • Communication skill : ในการทำงานในองค์กร ที่ต้องทำงานร่วมกันกับหลาย ๆ ทีม ปัญหาอันดับต้น ๆ ของการทำงานคือการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน โดยเฉพาะผู้ร่วมงานที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในส่วนงานที่คุณทำอยู่ ดังนั้นถ้าคุณพัฒนา Communication skill สามารถสื่อสารอธิบายเรื่อง Technical ยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ร่วมงานเห็นภาพตรงกันมากขึ้น

  • Making Tough Decision : บ่อยครั้งที่โปรแกรมเมอร์ต้องตัดสินใจแก้ปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ ทักษะการตัดสินใจปัญหายาก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานเมื่อจะก้าวขึ้นไปเป็น Senior หรือ Tech Lead ที่จะต้องวิเคราะห์ปัญหาตรงหน้า และคิดตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในสถาณการณ์ต่าง ๆ

  • Career path : ถ้าคุณอยากที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จในสายงาน Programmer คุณควรตั้งเป้าหมายว่า ใน 5-10 ปี คุณต้องการเติบโตในสายงานแบบไหน? และแตกหัวข้อสิ่งที่ควรจะต้องทำว่ามีอะไรบ้าง? เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของคุณได้ ช่วยให้คุณเห็นเส้นทางที่คุณสามารถก้าวไปในสายงานได้อย่างชัดเจนขึ้น

ทั้งหมดนี่เป็นเพียงสกิลเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในแต่ละงาน แต่ละองค์กร ก็จะมีทักษะที่ต้องการแตกต่างกันออกไป นักโปรแกรมเมอร์จึงต้องคอยอัพเดทและเรียนรู้ทักษะและความต้องการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งงานเหล่านี้ก็จะมีหน้าที่และรายละเอียดการทำงานที่แตกต่างกันออกไปแต่ละบริษัท รวมถึงรายได้และประสบการณ์ที่ต้องการ เพื่อให้เข้ากับขนาดขององค์กร ประเภทของการดำเนินกิจการ และก่อนสมัครงานควรศึกษารายละเอียดตาม description และศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทก่อน หากสนใจสมัครงานคลิกที่นี่ได้เลย

close
Join WorkVenture for the newest job offers and company reviews